หมอชีวกโกมารภัจจ์



เรื่องราวของหมอประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า ที่ทรงวางพระทัยให้เป็นหมอรักษาองค์ตลอดพระชนม์ชีพ ตามหลักฐานในพระไตรปิฎก ทำให้เราทราบว่าหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นนายแพทย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยพุทธกาลไม่ว่าใครจะเป็นโรคอะไร ท่านสามารถรักษาได้ทั้งนั้น ประหนึ่งหมอเทวดาผู้วิเศษที่เดียว ในวงการแพทย์ไทยได้ยกย่องและมีความเคารพนับถือ  หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นบรมครู และได้มีพิธียกครูบูชาเป็นประจำทุกปี......
ประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์
กำเนิดหมอชีวก สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ในพระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์ และสมัยนั้นพระนครไพศาลีเป็นพระนครที่มั่งคั่งสมบูรณ์ มีผู้คนพลเมืองคับคั่งล้นหลาม มีข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ มีปราสาทและเรือนยอดมีจำนวนอย่างละ ๗๗o๗ หลัง และมีสวนสำหรับเที่ยวหย่อนใจ (Park) กับสระบัวมีจำนวนอย่างละ ๗๗o๗ แห่งเหมือนกัน และในพระนครไพศาลีนั้น มีหญิงนครโสเภณีอยู่คนหนึ่ง มีนามว่า “อัมพปาลี” เป็นสตรีที่มีรูปร่างสวยสะคราญ เป็นที่น่าทอดทัศนา นำมาซึ่งความปลาบปลื้มใจในเมื่อได้เห็น กอบด้วยสุภลักษณ์อันเลอเลิศฉลาด ชำนิชำนาญในการเต้นรำระบำบรรเลง และการประโคมขับ เป็นที่คบหาสมาคมไปมาหาสู่ของพวกผู้ชายที่มีความต้องการ, (นาง) รับเงิน ๕o ตำลึงแล้วก็ไปได้ตลอดราตรีหนึ่ง ทั้งนี้ถือกันในสมัยนั้นว่า นางอัมพปาลี เป็นศรีทำให้พระนครถึงซึ่งสิวิไลเกินขนาด ครั้งหนึ่ง คณะคนมีอันจะกิน (เนคโมติกุฏุมพิกคโณ) ชาวกรุงราชคฤห์พวกหนึ่งได้พากันไปเยี่ยมนครไพศาลีเนื่องด้วยกรณียกิจบางอย่าง ได้พบเห็นพระนครไพศาลีสมบูรณ์พูนสุข มีประชาชนพลเมืองหนาแน่น อาหารการกินก็สมบูรณ์ซื้อหาได้ง่าย ไม่ขัดแคลน มีปราสาทเรือนยอดสวนสำหรับเที่ยวหย่อนใจ และสระบัวมีจำนวนเท่าที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และได้ไปพบปะนางอัมพปาลี คณิกาผู้มีรูปโฉมโสภาน่าพึงชมอุดมนารีลักษณ์ฉลาดเฉลียวเชี่ยวชาญ ในการเต้นรำระบำบรรเลงและการประโคมขานประสานเสียง และทั้งได้เห็นความหรูหรารุ่งเรืองแห่งพระนครไพศาลีด้วยอำนาจนางอัมพปาลี คณิกาดั่งนั้น ครั้นสำเร็จกิจธุระแล้ว กลับมากรุงราชคฤห์จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช กราบทูลเรื่องที่ได้ไปพบเห็นมาในพระนครไพศาลีให้ทรงทราบทุกประการ แล้วจึงกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตตั้งหญิงแพศยาให้มีขึ้นในกรุงราชคฤห์สักคนหนึ่ง จึงพระเจ้าพิมพิสารประทานพระบรมราชานุญาตให้พวกธนบดีเหล่านั้นทำได้ตามประสงค์ ครั้งนั้น ในพระนครราชคฤห์นั้นมีนางสาวเลอโฉมสมบูรณ์ด้วยรูปพรรณสัณฐานเป็นที่น่าทอดทัศนานำมาซึ่งความปลื้มใจอยู่คนหนึ่งนามว่า “สาลวดี” คหบดีชาวกรุงราชคฤห์พวกนั้นจึงได้ตั้งนาง “สาลวดี” ผู้เลอโฉมนั้นเป็นหญิงคณิกา(คือหญิงแพศยา) โดยที่ชาวเมืองให้ทรัพย์นางสองแสนตำลึงพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานสามแสน กับของอื่นๆ อีกต่อมาไม่ช้านักนางสาลวดีคณิกาก็ได้เป็นหญิงฉลาดเฉลียวเชียวชาญในการเต้นระบำบรรเลงและการขับขาน และรับรองพวกผู้ชายที่ต้องการอภิรมย์คืนละร้อยตำลึง และอยู่มาไม่ช้าไม่นานนางก็เกิดมีครรภ์ขึ้น นางจึงมาคิดว่า “ธรรมดาของผู้ชายย่อมไม่ชอบสตรีมีครรภ์ ฉะนั้นถ้าใครรู้เรื่องเราเข้าแล้ว รายได้ของเราก็จักตกไป อย่ายังงั้นเลย เราควรบอกป่วยเสียเถอะ,” เมื่อนางดำริฉะนี้แล้ว จึงได้สั่งยามเฝ้าประตู ห้ามมิให้ผู้ชายใดๆ เข้ามาในบ้าน ถ้าและมีผู้มาถามถึงให้บอกเขาว่านางป่วยคนยามรับคำสั่งแล้วก็ได้ปฏิบัติตามนั้น ครั้นอยู่มานานวันครรภ์แก่แล้วนางก็คลอดบุตร แล้วสั่งให้นางทาสีเอาทารกนั้นใส่กระด้งเก่าๆ นำเอาออกไปทิ้งที่กองขยะมูลฝอย บังเอิญวันนั้นเจ้าชายอภัย จะเสด็จไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินแต่เช้า ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กนั้น มีฝูงกาล้อมตอมอยู่ จึงรับสั่งถามคนทั้งหลายดูว่า “อะไรที่กาล้อมตอมอยู่นั้น? เขาทูลว่า “เด็กพระเจ้าข้า”  “ยังเป็นอยู่หรือแก่” ? “ยังเป็นพระเจ้าข้า” “ยังงั้นพวกแกช่วยนำไปยังวังฉันเอาให้นางนมเลี้ยงไว้ด้วย” เขารับสั่งแล้วได้นำเอาเด็กไปที่วังเจ้าชายอภัยแล้วมอบให้นางนมเลี้ยงไว้ เนื่องด้วยเหตุที่คนทั้งหลายได้ทูลเจ้าชายว่า “ชีวติ” ซึ่งแปลว่ายังเป็นอยู่ คือยังมีชีวิตอยู่ยังไม่ตาย คนทั้งหลายจึงพากันขนานนามเขาว่า “ชีวก” แปลว่า ผู้ยังเป็นอยู่ ยังไม่ตายหรือผู้รอดตาย และโดยเหตุที่พระราชกุมารคือเจ้าชายได้ทรงเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมจึงได้นามว่า โกมารภัจจ์ เรียกรวมกันว่า “ชีวกโกมารภัจจ์”
(ต้นฉบับเดิม)
“บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สุประวีณ์ เอื้อรัศมี หากท่านต้องการนำบทความนี้ไปใช้ อ้างอิง ทำซ้ำ
หรือนำไปลงในเว็บไซต์ของท่าน กรุณาเขียนข้อความว่า ที่มาของบทความ จาก สุประวีณ์ เอื้อรัศมี"

น้ำมนต์ ปกติจะสำเร็จด้วยการเจริญพระพุทธมนต์ของพระสงฆ์ในงานพิธีมงคลต่างๆ หรือการปลุกเสกของพระภิกษุหรือคฤหัสถ์ผู้ทรงวิทยาคุณ กล่าวคือผ่านการทำสมาธิที่แน่วแน่ และ พระปริตที่เป็นมนต์ทางศาสนามาแล้ว.
น้ำมนต์ นิยมนำมาอาบ ดื่ม ใช้รักษาโรค หรือประพรมที่ศีรษะ ภายในบ้าน บริเวณบ้าน ป้ายร้านค้า เป็นต้น โดยนับถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นน้ำสิริมงคล นำความสวัสดีมีโชคมาให้ ตลอดถึงกำจัดปัดเป่าอัปมงคล อันตราย ภัยพิบัติต่างๆ ได้
น้ำมนต์ เมื่อเวลาเรารู้สึกดวงไม่ดี มีเคราะห์ หรือเจ็บป่วย นำพระกริ่งปวเรศ หรือพระกริ่ง (องค์แทนพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาสพุทธเจ้า)   อาราธนาบารมีของพระองค์ท่านทำน้ำพระพุทธมนต์ ดื่ม รด อาบ กินเพื่อความสวัสดี มีชัยปราศจากโรคภัยและเคราะห์

รัตนสูตร (บท "ยังกิญจิ" ทำน้ำมนต์) สวดเพื่อปัดเป่าอุปัทวันตรายให้หมดไป
(ว่าด้วยรัตนทั้ง 3 คือพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
สวดเพื่อปัดเป่าอุปัทวันตรายให้หมดไป)

สมัยพุทธกาล เมื่อครั้งเกิดอหิวาตกโรค ระบาดที่เมืองเวสาลี ในช่วงเวลานั้นเกิดภัยแล้ง ข้าวกล้าในไร่นาเกิดความเสียหายหนัก ผู้คนอดอยาก และล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวเมืองเวสาลีนำซากศพเหล่านั้นไปทิ้งไว้นอกเมือง ในพระไตรปิฎกกล่าวว่า
เพราะกลิ่นซากศพของคนที่ตายทั้งหลาย พวกอมนุษย์ทั้งหลายก็เข้าเมือง ต่อแต่นั้นคนก็ตายมากต่อมาก เพราะความปฏิกูลนั้น อหิวาตกโรคย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย
ชาวเมืองเวสาลีช่วยกันค้นหาสาเหตุของทุพภิกขภัยครั้งนี้ ได้กราบทูลพระราชาว่า คงเป็นเพราะพระองค์ไม่ตั้งอยู่ในธรรมกระมัง จึงเกิดทุกข์เข็ญเช่นนี้ พระราชารับสั่งให้ช่วยตรวจสอบว่า พระองค์ไม่ตั้งอยู่ในธรรมข้อใด ประชาชนก็ช่วยกันพิจารณาตรวจสอบแต่ไม่พบข้อบกพร่องแต่อย่างใด ต่อมามีบางพวกเสนอว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้บังเกิดขึ้นแล้ว พระองค์เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ขอได้โปรดกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระพุทธองค์มาโปรดชาวเมืองเวสาลีด้วยเถิด
ในขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ และพระเจ้าพิมพิสารทรงอุปัฏฐากพระพุทธองค์อยู่ เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบว่าชาวเมืองเวสาลีได้ทูลอาราธนาพระองค์เสด็จดับทุกข์ให้ จึงทรงรับด้วยทรงทราบชัดว่า
"เมื่อเราแสดงรัตนสูตรในเมืองเวสาลีแล้ว อารักขาจะแผ่ไปตลอดแสนโกฏิจักรวาล ในเวลาจบพระสูตร ธรรมาภิสมัยจักมีแก่สัตว์แปดหมื่นสี่พัน"
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปถึงเมืองเวสาลี เกิดฝนตกหนัก เรียกว่า "ฝนโบกขรพรรษ" เป็นฝนพิเศษ เพราะผู้ใดต้องการจะเปียกฝน ก็เปียก ผู้ใดไม่ต้องการเปียก ก็จะไม่เปียก ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมถึงเข่า ถึงเอว ถึงคอ แล้วน้ำพัดพาเอาซากศพเหล่านั้นลงไปในแม่น้ำคงคาจนหมดสิ้น แผ่นดินก็สะอาดบริสุทธิ์ขึ้น
ต่อมาพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนอยู่ที่ประตูพระนคร ตรัสเรียกพระอานนท์มาแล้วตรัสสอน "รัตนสูตร" แก่พระอานนท์ แล้วโปรดให้ทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมไปทั่วเมือง ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า
"เพื่อกำจัดอุปัทวะเหล่านั้น ที่ประตูพระนครเวสาลี สวดอยู่เพื่อป้องกัน ใช้บาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าตักน้ำ เที่ยวประพรมอยู่ทั่วพระนคร ก็เมื่อพระเถระกล่าวคำว่า "ยังกิญจิ" เท่านั้น พวกอมนุษย์ทั้งหลายที่อาศัยกองหยากเยื่อ และประเทศแห่งฝาเรือนเป็นต้น ซึ่งยังไม่หนีไปในกาลก่อน ก็พากันหนีไปทางประตูทั้ง ๔ ....เมื่อพวกอมนุษย์ไปกันแล้ว โรคของมนุษย์ทั้งหลายก็สงบ"   มีดังนี้

ตำนานรัตนสูตร

รัตน สูตร เป็นสูตรที่ ๒ ในเจ็ดตำนาน ที่เรียกว่า รัตนสูตร ก็เพราะว่า สูตรนี้ เป็นพระบาลีที่ประกาศอานุภาพของพระรัตนตรัยสิ้นเชิง อยู่ในรูปประเภทร้อยกรอง แบบฉันทลักษณะ คาถาวรรณพฤติล้วน และดูเหมือนจะเป็นแบบตัวอย่างแต่งฉันท์ภาษาไทย แบบนี้ว่า กาพย์ยานี บ้าง ยานีลำนำ บ้าง เพราะบาลีสูตรนี้ขึ้นต้นบทว่า ยานี เป็นฉันท์ที่ไพเราะ และแต่งง่าย หากแต่บาลีนิยม ครุ ลหุ ไม่นิยมสัมผัส ทั้งครุ ลหุ บางแห่งก็ทิ้งครุ ลหุ เหมือนกัน ดังนั้น จึงไปยุติที่ตรงว่า ถ้าแต่งฉันท์จึงรักษาครุ ลหุ ให้เป็นแบบฉันท์ ถ้าแต่งกาพย์ไม่ต้องรักษา ครุ ลหุ รักษาแต่สัมผัส ถือเอาความเป็นเกณฑ์ เรียกว่า ยานี ๑๑ บ้าง ขอเทียบเคียงให้ดู ดังนี้

ยานีธ ภูตา - นิ สมาคตานิ

ภูมานิ วายา - นิว อนฺตลิกฺเข

ตัวอย่าง ยานี ๑๑ ภาษาไทย

ขึ้นกกตกทุกข์ยาก แสนลำบากจากเวียงไชย

มันเผือกเลือกเผาไฟ กินผลไม้ได้เป็นแรง.

ภาษาไทยที่ยกมานี้ ไม่มีลหุเลย เป็นครุล้วน แต่อาศัยสัมผัส ก็ฟังไพเราะเหมือนกัน

โดย เฉพาะบาลีมี ๒๒ คาถา เดิมพระสวดกันหมด จะเป็นในวัดก็ตาม ในบ้านก็ตาม ใช้เวลาสวดมาก ครั้นมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเห็นว่า ในพระราชพิธี ในพระบรมมหาราชวัง ถ้าจะสวดจบทั้งสูตร ใช้เวลามาก จึงโปรดให้เลือกสวดแต่บทสำคัญๆ เพียง ๗ คาถาครึ่ง เลยถือเป็นเนติสืบมาจนบัดนี้ เว้นแต่สวดในวัด พระจึงจะสวดจบทั้งสูตร

อีก อย่างหนึ่ง พระสูตรนี้ นิยมเรียกว่า สูตรน้ำมนต์ ก็มี เพราะเหตุว่า ถ้าพระจะทำน้ำมนต์ จะข้ามบทนี้ไปเสียไม่ได้ ทั้งมีแบบนิยมให้พระเถระหยดเทียนน้ำมนต์ในพระสูตรนี้ และเมื่อจะดับเทียนน้ำมนต์ ก็ให้ดับที่ท้ายสูตรนี้ด้วย ดังนั้น สูตรนี้ จึงเป็นพระสูตรที่ทรงอานุภาพศักดิ์สิทธิ์พระสูตรหนึ่ง ตามที่ผู้รู้นิยมไว้

“พระสูตรนี้มีตำนานเล่าไว้ว่า”

ครั้ง นั้น ชาวเมืองพากันโจทก์กล่าวโทษพระราชา ที่ประตูพระราชวังว่า พระเจ้าข้า ภัยพิบัติ ๓ ประการ ได้เกิดขึ้นแก่ชาวเมืองแล้ว ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยมี พระราชาจักประพฤติผิดพระราชประเพณีอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่แม้เมื่อพระมหากษัตริย์ จะโปรดให้ตั้งกรรมการพิจารณาหาความผิดของพระองค์ ก็ไม่ปรากฏว่า พระมหากษัตริย์ทรงประพฤติบกพร่องแต่ประการใด ในที่สุด ก็พากันบนเจ้า บวงสรวง เทพยดาอารักษ์ และวิงวอนครูอาจารย์ที่ตนนับถือว่าเป็นผู้วิเศษ สุดแต่ใครจะเล็งเห็นสมัย หนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ พระนครนี้นิยมเรียกว่า เบญจคีรีนครอีกชื่อหนึ่ง เพราะมีภูเขา ๕ ลูก แวดล้อมเป็นราชสีมามณฑลอยู่ในอาณาจักรมคธรัฐ

ครั้ง นั้น พระนครไพศาลี แห่งแคว้นวัชชี เกิดทุพภิกขภัยพิบัติ คือ ฝนแล้ง ข้าวกล้าในนาตาย เพราะไม่มีน้ำเป็นส่วนมาก ข้าวปลาหายากในชั้นแรกคนยากจน คนเกียจคร้าน ต้องอดอาหารตายมาก เมื่อตายแล้วหาญาติที่จะอนุเคราะห์ศพไม่มี คนมีกำลังก็ไม่มีความสงสารศพ มัววุ่นแต่งานของตัว เห็นไปว่า ธุระไม่ใช่ ไม่ใส่ใจ ตกลงคนตายที่ไหน ศพก็ทอดทิ้งที่นั่น ยิ่งกว่านั้นอหิวาตกโรคก็เข้าคุกคาม เพราะโทษที่ศพปฏิกูลในถนนหนทาง ในแม่น้ำลำคลอง เพราะความสกปรกนานาประการ ดังกล่าวแล้ว มนุษย์ได้ตายลงเพราะอหิวาตกโรคเป็นอันมาก ครั้นเมื่อภาคพื้นปฏิกูลด้วยศพมากเข้า ปีศาจจำพวกที่กินซากศพเป็นอาหาร ก็พากันเข้าพระนคร กินซากศพ ยิ่งกว่านั้น ยังหันเข้าใส่คนป่วยไข้ ชิมรสเนื้อมนุษย์ที่ยังไม่เปื่อยเน่าดูบ้าง และแล้วก็เลยถามไปถึงมนุษย์ที่ไม่ป่วย แต่สกปรก เช่น ตื่นมาไม่ล้างหน้า นอนไม่ล้างเท้า น้ำไม่อาบ กินข้าวแล้วไม่บ้วนปาก ผ้าผ่อนไม่ซัก และบ้านเรือนไม่กวาดไม่ถู เป็นต้น ในที่สุดมนุษย์ที่ไม่ป่วย แต่สกปรก ก็เริ่มถูกปีศาจเข้าสิงสู่ดูดโลหิตเป็นอาหาร มนุษย์เริ่มตายลงเพราะปีศาจอีกประเภทหนึ่ง ชาวเมืองไพสาลีประสบภัยร้ายกาจ ๓ ประการ คือ ฝืดเคือง๑ อวิหาตกโรค ๑ ปีศาจ ๑ พากันอพยพไปอยู่ในเมืองอื่นก็ไม่น้อย

ใครให้ช่วยปลดเปลื้อง แต่ก็ไม่สามารถจะบรรเทาภัยนั้นได้

ครั้ง นั้น อำมาตย์ผู้หนึ่ง ได้กราบทูลพระเจ้าลิจฉวีว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ บริสุทธิ์จากสรรพกิเลส มีพระหฤทัยประกอบด้วยพระมหากรุณาเสมอด้วยมหาสมุทร ตรัสรู้สัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จประกาศพระธรรมบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บัดนี้ เสด็จประทับ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารมหาราช ทรงสักการะบำรุงอยู่ พระองค์ทรงมีอภินิหารบารมีสูงยิ่งนัก ถ้าจะได้กราบทูลอัญเชิญให้เสด็จมายังพระนครนี้ ข้าพระองค์เชื่อเหลือเกินว่า ภัย ๓ ประการนี้ จะต้องสงบเพราะอานุภาพของพระองค์แท้

ลำดับ นั้น พระเจ้าลิจฉวี จึงโปรดให้เจ้าชายมหาลี พร้อมด้วยอำมาตย์ ๕ นาย เป็นราชทูต เชิญเครื่องราชบรรณาการไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารมหาราช ณ กรุงราชคฤห์ กราบทูลขอประทานโอกาสให้พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เสด็จไปบำบัดภัยพิบัติในพระนครไพสาลี โดยเวลาเพียง ๓ วัน คณะราชทูตนั้น ก็เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารยังพระนครราชคฤห์ ทูลขอพระราชทานพระกรุณาตามพระราชบัญชาของพระเจ้าลิจฉวี

พระ เจ้าพิมพิสารทรงรับสั่งว่า ฉันเห็นใจพวกท่าน และยินดีสนับสนุนในเรื่องนี้ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงกรุณาเสด็จ ขอให้พวกท่านไปทูลอัญเชิญดู ความจริง เจ้าชายมหาลี ก็ทรงรู้จักพระองค์ท่านมาก่อน ฉันคิดว่าการเข้าเฝ้าจะไม่ลำบากหรือหนักใจแต่ประการใด หากพระบรมศาสดาทรงเล็งเห็นประโยชน์ในการเสด็จแล้ว จะทรงพระกรุณาอนุเคราะห์เป็นแน่ การมาของเจ้าชายจะไม่ไร้ผลเลยครั้งแล้วก็โปรดให้ราชบุรุษนำคณะราชทูตนครไพสาลี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร

พระ ผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งว่า มหาลี ตถาคตรับปฏิญญาของพระเจ้ากรุงราชคฤห์ เพื่ออยู่ในที่นี้เสียแล้ว ถ้าพระเจ้ากรุงราชคฤห์ จะทรงพระกรุณาประทานโอกาสเธอ ตถาคตก็จะไป

ข้าพระองค์ได้รับพระราชทานโอกาสแล้ว พระเจ้าข้าเจ้าชายมหาลีกราบทูล

แม้เช่นนั้น มหาลี ก็ควรจะทูลให้พระองค์ทรงทราบเสียก่อนที่จะออกเดินทางพระบรมศาสดาทรงรับสั่ง

เมื่อ พระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งมคธรัฐ ทรงทราบจากเจ้าชายมหาลีว่า พระบรมศาสดาทรงพระกรุณาเสด็จ จึงรีบเสด็จมาเฝ้า ทูลขอให้ยับยั้งสัก ๓ วัน เพื่อตกแต่งทางเสด็จ ตลอดที่พักแรม ตามระยะทางจนถึงแม่น้ำคงคา สุดพระราชอาณาเขต

ครั้ง ได้เวลากำหนด พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์ ๕๐๐ รูป ก็เสด็จพระนครไพสาลีโดยมรรคานั้น ด้วยพระเกียรติยศอันสูง ซึ่งพระเจ้ากรุงราชคฤห์ทูลถวายโดยระยะทาง ๕ โยชน์ กำหนดวันละ ๑ โยชน์ ทรงประทับแรมตามระยะทางรวม ๕ วัน ก็ถึงฝั่งแม่น้ำคงคา เสด็จลงเรือพระที่นั่งซึ่งพระเจ้าพิมพิสารจัดถวาย งดงามสมพระเกียรติยศยิ่งนัก และเป็นครั้งแรกที่เสด็จทางน้ำด้วยพระเกียรติยศอันสูงเช่นนี้

พระ เจ้าพิมพิสารทรงตามเสด็จพระพุทธดำเนินตลอดทาง และเสด็จลงประคองเรือพระที่นั่งให้เคลื่อนจากท่าแม่น้ำคงคา ทรงตามเรือพระที่นั่งไปในน้ำเพียงพระศอ ก็ประทับหยุดยืน ทูลว่าหม่อมฉันจะมารับเสด็จพระองค์คราวเสด็จกลับ ณ ที่นี้อีกเมื่อเรือพระที่นั่งแล่นไปตามแม่น้ำจนลับทิวไม้แล้ว จึงเสด็จกลับพระนคร

พระ ผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสด็จจากชลมารคสิ้นระยะทาง ๑ โยชน์ ก็ถึงท่าพระราชอาณาเขตพระนครไพสาลี จึงเสด็จขึ้นจากเรือรับสักการะปฏิสันถารซึ่งเจ้าชายมหาลี หัวหน้าคณะราชทูตกราบทูลให้พระเจ้าลิจฉวีจัดถวายให้โอฬาร ยิ่งกว่าพระนครราชคฤห์จัดเสด็จตามระยะทาง ๓ โยชน์ สิ้นเวลา ๓ วัน ก็ถึงชานพระนครไพสาลี ขณะที่เสด็จเหยียบภาคพื้นพระนครไพสาลีก้าวแรกก็ประทับยืน จ้องพระเนตรจับท้องฟ้า ทรงระลึกถึงพระบารมีที่บำเพ็ญมาแต่ปุเรชาติ ในทันใดนั้นมหาเมฆก็ตั้งขึ้นดังแผ่นผาสีครามผืนยาวเหยียดในด้านปัจฉิมทิศ แล้วเคลื่อนลงมาปกคลุมพระนครไพสาลี พร้อมกับส่งเสียงคำราม กระหึ่มครืมครวญ เปรี้ยงๆ ดังสนั่น ด้วยสายฟ้าแลบแปลบปลาบ แล้วห่าฝนใหญ่ก็หลั่งลงจั่กๆ ดังเทน้ำ เสมือนหนึ่งดังจงใจจะล้างพื้นแผ่นดินให้สะอาด ต้อนรับพระบรมศาสดา

ความ จริง ก็ดูสมจริงดังกล่าว ด้วยพอฝนซัดลงมากมายเช่นนั้นแล้ว ไม่ช้าน้ำฝนก็ไหลลงท่อ ธาร และท่วมท้นบ่าเข้าพระนคร พัดเอาซากศพมนุษย์และสัตว์ซึ่งปฏิกูลพื้นแผ่นดินอยู่ ให้ไหลไปสู่ทะเลใหญ่สิ้นเชิง ดังนั้น พอฝนขาดเม็ดแล้ว ภาคพื้นก็สะอาด ความอบอ้าวเร่าร้อนของอากาศก็สงบ บรรเทาโรคได้ถึงครึ่ง ด้วยพุทธานุภาพ

ใน เวลาเย็นวันนั้นเอง พระบรมศาสดา ทรงรับสั่งกับพระอานนท์เถระว่า  
อานนท์ เธอจงเรียนเอารัตนสูตรนี้ไป แล้วจาริกไปในกำแพงเมืองไพสาลี เจริญมนต์รัตนสูตรนี้ เพื่อความสวัสดีจากภัยอันใหญ่ของประชาชนเถิด

ใน ราตรีนั้น พระอานนท์ เรียนเอารัตนสูตรจากพระบรมศาสดาแล้วก็ประคองบาตรเลสมัยของพระบรมศาสดา ซึ่งเต็มด้วยน้ำ ตั้งกัลยาณจิตประกอบด้วยเมตตา ระลึกถึงพระพุทธคุณ คือ พระบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ และปรมัตถบารมี ๑๐ ซึ่งทรงบำเพ็ญมา และบารมีในปัจฉิมชาตินี้ จำเดิมแต่เสด็จลงสู่พระครรภ์ เป็นต้น จนตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ประกาศโลกุตตรธรรม ๙ ประการ เป็นที่สุดเจริญมนต์รัตนสูตรนี้ เที่ยวจาริกไปยังภายในกำแพงเมือง พร้อมด้วยพระเจ้าลิจฉวีทั้งหลายติดตามห้อมล้อมเดินพลางพรมน้ำมนต์พลางจนรอบ พระนคร มนุษย์ที่กำลังประสบภัยแต่ปีศาจและโรค พอถูกหยดน้ำมนต์ที่พระเถรเจ้าพรมเท่านั้น ก็หายจากโรคภัย มีกำลัง สดชื่น ติดตามแวดล้อมพระเถรเจ้า โห่ร้องแซ่ซ้องสาธุการดังสนั่น มวลภูตผีปีศาจที่เข้ามาเบียดเบียนมนุษย์ ครั้นได้ยินเสียงมนุษย์ก็สะดุ้ง ตกใจกลัว พากันเลี่ยงออก ที่ยังดื้อแอบหลบอยู่ตามแง้มฝาเรือนและประตูเมื่อถูกหยาดน้ำมนต์ของพระเถร เจ้า ก็เจ็บปวดแทบดับจิต ประดุจสุนัขถูกฟาดหลังด้วยแส้เหล็ก พากันเพ่นหนีอย่างไม่คิดชีวิตด้วยความกลัวสยองเกล้า ตั้งหน้าวิ่งหนีออกจากเมืองโดยไม่เหลียวหลัง ครั้นไปประดังแน่นยัดเยียดที่ประตูเมือง และเมื่อไม่สามารถจะทนรออยู่ได้ ก็พากันพังบานประตูหนีไปจนสิ้นเชิง
ครั้ง พระเถรเจ้าจาริกเจริญรัตนสูตร ประพรมน้ำมนต์รอบพระนครแล้ว ก็พามหาชนซึ่งติดตามมาเป็นอันมากเข้าเฝ้าพระบรมศาสดายังที่ประทับ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงพระกรุณาประทานพระธรรมเทศนาตั้งแต่เบื้องต้น จนประกาศจตุราริยสัจ ให้มหาชนชื่นชมโสมนัสปรีดาปราโมทย์เกิดศรัทธากล้าหาญ ประกาศตนเป็นพุทธมามกะเป็นอันมาก พระบรมศาสดาทรงพระกรุณาประทานพระธรรมเทศนาอยู่ถึง ๗ วัน ครั้นทรงทราบว่า ภัย ๓ ประการสงบลงแล้ว และประชาชนมีความผาสุขดีแล้ว ก็ทรงอำลาพระเจ้าลิจฉวี เสด็จพระพุทธดำเนินกลับพระนครราชคฤห์ ด้วยพระเกียรติยศซึ่งพระเจ้าลิจฉวีและมหาชนพร้อมกันจัดบูชาอย่างมโหฬาร แม้พระเจ้าพิมพิสารและข้าราชบริพาร ตลอดชาวพระนครราชคฤห์ก็มีความยินดีพากันไปต้อนรับพระบรมศาสดาริมฝั่งแม่น้ำ คงคา ให้เสร็จกลับมาประทับ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร สมดังมโนปณิธานที่ทรงตั้งไว้นั้นแล ฯ.

น้ำมนต์ และ รัตนสูตร โดย หลวงพ่อฤาษี (ลิงดำ)
บันทึกเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฏาคม ๒๕๐๖ ตรงกับ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๘ วันนี้เจริญกรรมฐานเวลา ๘.๓๐ น. จิตจับอนาปาฯ และปราโมทย์ในพระนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อภาวะจิต เข้าสู่แดนพระนิพพานพบท่านโมคคัลลาน์ และท่านกัญจายนะ แล้วเข้าไปสู่หน้าห้องๆหนึ่ง มีพระบอกว่าเป็นที่ประทับขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นท่านเสด็จออกรับแล้วทรงนำบาตรมาลูกหนึ่งทรงเทน้ำเก่าในบาตรออกแล้วทรงตักน้ำใหม่ทำน้ำมนต์ คิดว่าท่านจะรดน้ำมนต์ให้ แต่ความจริงกลายเป็นท่านสอนทำน้ำมนต์โปรดคน น้ำมนต์ที่ทำ ห้ามเรียกค่าจ้างรางวัล ให้สงเคราะห์ด้วยอำนาจเมตตา แม้แต่ดอกไม้ธูปเทียนก็ให้ถือว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็น ถ้าเขามีหรือหามาง่าย ก็ให้จัดหามา ถ้ายากก็ไม่ต้อง
ให้เอาน้ำใส่บาตรแล้วเพ่งจิตลงสู่ก้นบาตร ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ในอดีตทั้งหมด แล้วสวด อิติปิโสฯลฯ ทั้งสามห้อง ขณะสวดให้เพ่งจิตลงก้นบาตรแล้วอธิษฐานว่า "ขอให้กระแสน้ำนี้จงซาบซ่านไปทั่ววรกาย กำจัดโรคาพยาธิของมนุษย์ทั้งหลายและสัตว์ให้หายโดยฉับพลัน" แล้วว่า อิติปิโสฯลฯ ต่อไปอีกหลายจบก็ได้ตามความพอใจ เมื่อพอใจแล้วอธิษฐานตามเดิมอีกครั้ง เอามือวนรอบบาตรว่า อิติปิโสฯลฯ ห้องต้น วนครบ ๑ รอบ ห้องสอง วนอีก ๑ รอบ ห้องสาม วนอีก ๑ รอบ เป็นอันเสร็จพิธี
น้ำมนต์พระพุทธเจ้า
“เวลานี้ได้ยินข่าวบอกมีพระบางวัด เวลาที่ญาติโยมพุทธบริษัทไปหา เขาบอกว่าเป็นงานศพ ออกมาพูด ๒ องค์ ๓ องค์ ก็มาโจมตีเรื่องเชื่อน้ำมง น้ำมนต์” เป็นต้น

อันที่จริง พระเราทำอย่างนั้นมันก็ไม่ถูก ต้องศึกษากำลังใจคนเสียก่อน กำลังใจคนน่ะอยู่ระดับไหน และก็น้ำมนต์มันไร้ผลหรือเปล่า ไอ้ที่เขามีผลมันก็มี ที่ทำกันเลอะเทอะไร้ผลก็มี ก็รวมความว่า คนติน้ำมนต์ก็ถือว่าเป็นคนที่มีความไม่รอบคอบ จะขอนำเรื่องน้ำมนต์ของพระพุทธเจ้ามาเล่าสู่ท่านฟังสักเรื่องหนึ่ง

ในพระธรรมบทภาคที่ ๗ ท่านกล่าวว่าเป็นเรื่องบุพกรรมของพระพุทธเจ้าเอง พระพุทธเจ้าทรงสั่งให้พระอานนท์ทำน้ำมนต์ จะได้รู้กันว่าการทำน้ำมนต์พระพุทธเจ้าก็ทรงสั่งให้พระอานนท์ทำ และพระอานนท์เป็นพุทธอนุชาด้วย (เป็นน้องชาย) และเป็นพุทธอุปฐาก เป็นที่อุปถัมภ์เหมือนเงาตามตัวพระพุทธเจ้า ถ้าน้ำมนต์ไม่ดี ถ้าพระอานนท์ไปทำเข้า พระพุทธเจ้าต้องเล่นงานแน่
แต่ทว่าในเรื่องนี้คาถาที่ทำน้ำมนต์ พระพุทธเจ้าบอกให้พระอานนท์ศึกษา เมื่อพระอานนท์เรียนไปแล้วก็ไปทำน้ำมนต์ ก็เป็นอันว่า คนที่ด่าคนทำน้ำมนต์ก็ถือว่าคนนั้นก็ด่า พระพุทธเจ้าด้วย คนที่ด่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ใช่สาวกของพระองค์ คำว่า สาวก หมายความว่า ผู้รับฟัง คือคนไม่ใช่คนของพระพุทธเจ้านั่นเองถือว่าเป็นคนของเดียรถีย์

วันนี้อาจจะพูดแรงไปนิดหนึ่งก็ต้องขออภัย พูดให้พวกเราสู่กันฟังนี่เป็นเรื่องของภายใน จะสุ่มสี่ สุ่มห้า พูดส่งเดชไปมันจะลงนรก ท่านที่ปฏิบัติพระกรรมฐานได้แล้วไปดูเสียบ้าง ว่าคนที่พูดไม่ค่อยดูเหนือดูใต้ประเภทนี้เขาไปอยู่ขุมไหนกัน

เนื้อความก็มีอยู่ว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภบุพกรรมของพระองค์เองจึงได้ตรัสพระธรรมเทศนาอันนี้ ในสมัยหนึ่ง ณ เมือง ไพสาลี ซึ่งมีอณาจักรติดต่อกับกรุงราชคฤห์มหานคร เวลานั้นเมืองไพสาลีเกิดโรคร้ายขึ้น โรคอันดับแรกคือ ความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และก็เกิดโรค คนก็อด โรคก็มาก ร้อนก็ร้อน ความจริงเมืองไพสาลีกับเมืองราชคฤห์นี่อยู่ใกล้กัน เขตนี้ถ้าร้อนก็ร้อนน่าดู ไปมาแล้ว เกือบจะทนไม่ไหว

ก็เป็นอันว่าคนก็เจ็บป่วยตายกันเป็นแถวๆ อันดับแรกโรคก็เกิดก่อน ไอ้ความไข้มีเข้ามาร่างกายทรุดโทรมอากาศไม่ดี โรคอื่นก็เข้ามาแทรก หนักๆเข้าก็อหิวาตกโรคก็มา เรื่องอหิวาตกโลกนี่ ขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท

อหิ นี่เขาแปลว่า งู
วาต นี่เขาแปลว่า ลม
โรคะ นี่เขาแปลว่า การเสียดแทง
ฉะนั้นคำว่าอหิวาตกโรคเนี่ยเขาแปลว่า โรคหรืออาการเสียดแทงมาจากลม ลมที่มีพิษเหมือนงู ฉะนั้นคนที่เป็นอหิวาต์ตายเร็วเหมือนคนถูกพิษงูกัด เวลานั้นการแพทย์ก็ดี แต่ทว่ามันไม่ทันถึงวาระที่คนจะตาย ก็ตายกันเกลื่อนฝังกันไม่ทัน ทิ้งหมักหมมกัน โรคอื่นก็เข้ามาแทรก พวกอมนุษย์ คือพวกอสุรกายบ้าง พวกเปตร พวกอะไรบ้างก็เข้ามายื้อแย่งศพกิน ก็หมักหมมกันมากคนตายหนัก อาการตายเมื่อมากอย่างนั้นจริงๆพวกชาวบ้านเขาก็โทษพระราชา

ความจริงพระราชานี่เป็นกระโถนท้องพระโรงจริงๆ ท่าก็อยู่เฉยๆ ท่านก็ทำความดีทุกอย่าง แต่ชาวบ้านก็โทษว่า ๗ รัชกาลมาแล้ว ไม่เคยมีโรคอย่างนี้เลย แต่มารัชการนี้เป็นรัชกาลที่ ๘ นั่นก็หมายความว่า เขาปกครองราชสมบัติเป็นพระราชาถึง ๗,๐๐๐ องค์มั้ง มันมากด้วยกันไม่รู้กี่องค์ ขี้เกียจจำมา นับว่าเป็นพันๆองค์ในเมืองนี้ เขาไม่มีการปฏิวัติ รัฐประหาร บ้านเมืองมีแต่ความสุข

แต่ว่าคนทราบว่าตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึง ๗ ในช่วงหลังไม่เคยมีโรคร้ายอย่างนี้แต่พอรัชกาลที่ ๘ เข้ามา โรคหนักจริงๆ เขาเลยโทษพระราชา ว่าพระราขาไม่ทรงธรรมพระราชาท่านก็ดีแสนดี จึงประชุมอำมาตย์ ข้าราชบริพาร ปุโรหิตที่มีความรู้ด้านต่างๆให้สอบสวนความประพฤติของพระองค์ ว่าความประพฤติของพระองค์มันไม่ดีตรงไหนบ้าง บกพร่องตรงไหนบ้างขอให้ชี้แจงออกมา ถ้ามีอะไรไม่ดีก็ทรงยอมรับผิด

บรรดาประชาชนทั้งหลายเหล่านั้นก็พิจารณาเห็นแล้วว่าพระองค์ทรงทำดีทุกอย่าง อยู่ในศีลธรรมทุกอย่าง ท่านบอกว่าเวลานั้นเกิดโรคขึ้น ๓ ประการคือ

๑. ภัยเกิดจากอาหาร อาหารมันหายาก จนไม่มีอะไรจะกิน
๒. ภัยเกิดจากอมนุษย์ คือพวกผี พวกเปรต พวกอสุรกาย
๓. ภัยเกิดจากโรค ที่มันเกิดขึ้นเพราะอากาศไม่ดี
ในเมื่อทุกคนเห็นว่าพระราชาดีก็กราบทูลให้ทรงทราบว่า "ความผิดของพระองค์ไม่มีพระเจ้าค่ะ"
พระองค์จึงได้ปรึกษาว่า "ถ้าอย่างนั้นจะทำยังไงดี เอายังไงกันแน่ โรคจึงจะบรรเทา"
บรรดาลูกศิษย์ของอาจารย์ทั้ง ๖ เป็นพวกเดียรถีย์บอกว่า "ถ้าไปนำอาจารย์ทั้ง ๖ มา อาจารย์ทั้ง ๖ มีฤทธ์มาก มีบุญญาธิการมาก โรคอย่างนี้จะหาย"

แต่ทว่าเวลานั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลกใหม่ๆ หมายความว่าใหม่เอี่ยมเลย ข้าไปอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ประมาณ ๑ ปีเห็นจะไม่ครบดีเป็นเวลาจวนที่จะเข้าพรรษา ก็หมายความว่า เข้าปีที่ ๒ บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญานเป็นปีที่ ๒ ก็มีคนที่ทราบข่าวพระพุทธเจ้า ก็บอกว่า

"เวลานี้พระพุทธเจ้าได้ทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก ขอให้ไปนิมนต์พระพุทธเจ้ามาที่นี่ โรคภัยไข้เจ็บมันจะหาย ภัยอันตรายต่างๆ มันจะหมดไป"

ในที่ประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าเห็นด้วย อาจารย์ทั้ง ๖ มีมานานแล้วโรคภัยมันก็มี แต่ว่า สมเด็จพระชินสีห์ คือพระพุทธเจ้าเราใฝ่ฝันกันมานาน ใครก็พูดถึงพระพุทธเจ้า แต่ไม่เคยพบพระพุทธเจ้าจริงๆ สักที เวลานี้พบพระพุทธเจ้าจริงแล้ว

ขณะที่ปรึกษากันอยู่นั่นก็มี พระเจ้าลิจฉวี องค์หนึ่งท่านประทับอยู่ด้วย พระเจ้าลิจฉวีองค์นี้ไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้าพร้อมกับ พระเจ้าพิมพิสาร ในวันที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารเข้ามากรุงราชคฤห์เป็นครั้งแรก และเวลานั้นพระเจ้าพิมพิสารกับบรรดาพุทธบริษัทเป็นพระโสดาบันกันเป็นแถวๆ พระเจ้าลิจฉวีองค์นี้ก็เป็นพระโสดาบันด้วย ในเมื่อเขาพูดถึงพระพุทธเจ้าท่านก็ทรงยืนยันว่าพระพุทธเจ้ามีความดีจริง ถ้าพระพุทธเจ้ามาในที่นี้โรคนี้มันจะหาย

ความจริงโรคร้ายที่เบียดเบียนร่างกายมันเป็นของธรรมดา มันเป็นโรคมาใหม่ แต่โรคร้ายที่สุดที่ประจำใจคือ ความเลวของจิตมันจะหายไปด้วย

ทุกคนก็ตัดสินใจว่า ถ้าอย่างนั้นต้องให้พระเจ้าลิจฉวีองค์นี้กับลูกชายของปุโรหิตไปนิมนต์พระพุทธเจ้าที่กรุงราชคฤห์มหานคร เมื่อท่านรับอนุมัติเขาส่งไปแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร

ความจริงท่านเป็นเพื่อนกัน เอาเครื่องบรรณาการไปมอบให้แก่พระเจ้าพิมพิสารไปถวายมีคนเขาบอกว่ามีความต้องการอยากจะได้พระพุทธเจ้าไปสงเคราะห์ที่เมืองไพสาลีเพราะเวลานี้คนตายกันมากฝังก็ไม่ทัน เผาก็ไม่ทัน
พระเจ้าพิมพิสารก็บอกว่า "พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ในอำนาจของกระผม ผมเองก็เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะทรงเสด็จไป หรือไม่เสด็จไปเป็นเรื่องของท่านที่ต้องไปกราบทูลเอง จะเอาเครื่องบรรณาการ เครื่องกำนัล เครื่องผู้ใหญ่บ้านอะไรก็ตาม ผมรับไม่ได้ ทางที่ดีไปนิมนต์เอง"

พระเจ้าลิจฉวีกับลูกชายของปุโรหิตก็ไปกราบทูลสมเด็จพระศาสดาให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าทรงทราบก็พิจารณาดูตามอำนาจพระพุทธญาน ก็ทรงทราบว่า ถ้าตถาคตไปที่นั่น (นึกในใจนะ) ไปถึงแล้วฝนจะตกหนัก จะชะสิ่งโสโครกทั้งหมด ให้ไหลลงแม่น้ำคงคา ความสะอาดของพื้นที่จะเกิดขึ้น

๑.โรคจะบางเพราะความสกปรกเริ่มหายไป
๒.ถ้าเราแสดงพระธรรมเทศนารัตนสูตร คือ ยานีธะภูตา ฯลฯ ในเจ็ดตำนาน ผลจะเกิดมหันต์ ให้คนเข้าอยู่ในไตรสรณาคมน์ อยู่ในศีล ๕ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะมีความสุขกันคือไม่เบียดเบียนกันโดยทางกาย ไม่ฆ่ากันบ้าง ไม่เบียดเบียนทำร้ายกันบ้าง ไม่รักไม่ขโมยกัน ไม่แย่งคนรักกัน ไม่โกหกมดเท็จ ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ไม่นินทาชาวบ้าน และก็ไม่เมาเกินไป อันนี้เมืองไพสาลีจะมีความสุขยิ่งกว่าเดิม แต่ว่าจะให้หมดไปทีเดียวไม่ได้เพราะว่าความเลวของมันมีอยู่


เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยอำนาจพระพุทธญานก็ทรงรับว่า "ตถาคตจะไป"

ต่อมาเมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ ก็เข้าไปกราบทูลสมเด็จพระจอมไตรว่า "จะเสด็จไปเมืองไพสาลีหรือพระพุทธเจ้าข้า"
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า "ไป จะไปสงเคราะห์ แต่ว่าจะไปไม่นานจะต้องกลับมาเข้าพรรษาที่พระเวฬุวัน เวลานี้ก็เหลือเวลาอีก ๑๐ วันจะเข้าพรรษา"
พระเจ้าพิมพิสารจึงกราบทูลว่า"ก่อนที่พระองค์จะเสด็จไป รอข้าพระพุทธเจ้าก่อน ขอปรับพื้นที่ให้ดีเสียก่อน พื้นที่ยังไม่ราบเรียบ"
จึงทรงสั่งให้พนักงานปรับพื้นที่ให้เรียบดำเนินสะดวกๆ สำหรับพระพุทธเจ้ากับบรรดาพระสงฆ์ ๕๐๐ รูป ระยะทางสิ้นทางไกล ๕ โยชน์ และก็จัดดอกไม้ ๕ สี โปรยปรายไปที่ทางสูงแค่เข่า เป็นการบูชาพระพุทธเจ้า เมื่อเสร็จแล้วก็กราบทูลให้เสด็จพระดำเนิน

เวลานั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จ ก็เอาร่มฉัตร ๒ ชั้นกั้นให้พระพุทธเจ้า ฉัตรชั้นเดียวกันให้พระสงฆ์ ๕๐๐ รูป ๑ รูปต่อฉัตร ๑ คัน หลังจากนั้นไปถึงแม่น้ำแล้วต้องข้ามฟาก ก็เอาเรือ ๒ ลำเข้ามาเทียบกัน ทำเป็นเรือกัญญา ประดับประดาสวยงาม สำหรับเรือพระพุทธเจ้า นี่ประดับประดาสวยงาม

พระเจ้าพิมพิสารไปส่งเรือถึงน้ำแค่คอ เรือถอยออกไป ท่านก็เดิตามเรือไป มือพนมไปไหว้พระพุทธเจ้า ลงทั้งเครื่องทรงไม่ใช่มีแต่ผ้าขาวม้า น้ำแค่คอก็กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "ถ้าพระองค์ยังไม่เสด็จกลับเพียงใด ข้าพระพุทธเจ้าก็จะคอยพระองค์อยู่ที่นี้จนกว่าเสด็จกลับ"

พระพุทธเจ้าก็ทรงเสด็จทางเรือสิ้นระยะทาง ๓ โยชน์ แล้วก็ทรงขึ้นฝั่ง ทางฝั่งโน้นก็เช่นกัน เมื่อทราบว่าพระเจ้าพิมพิสารทำอย่างนั้น พระราชาเมืองไพสาลีก็ลงมารับน้ำแค่คอเหมือนกัน จัดที่ให้เรียบเป็นทางระยะ ๓ โยชน์ ถึงเมืองแล้วก็เอาดอกไม้โปรยปรายด้วยเช่นเดียวกัน แต่ว่าทางโน้นจัดหนัก ของพระพุทธเจ้าฝั่งนี้จัดฉัตร ๒ ชั้น ทางฝั่งโน้นจัดฉัตร ๔ ชั้นรับพระพุทธเจ้า ฝั่งพระเจ้าพิมพิสารจัดร่ม ๑ ชั้นกับบรรดาพระสงฆ์ แต่ฝั่งโน้นเอาร่ม ๒ ชั้นทำเกยกัน

พอพระพุทธเจ้าทรงเหยียบพื้นดินฝั่งโน้นของเมืองไพสาลี มหาเมฆใหญ่ตั้งขึ้นฝนตกหนักนับเป็นชั่วโมงๆ นาบางแห่งน้ำท่วมแค่เข้าบ้าง บางแห่งท่วมแค่อก น้ำพัดพาเอาสิ่งโสโครกต่างๆลงในแม่น้ำคงคาทำให้บ้านเมืองสะอาดไปอีเยอะ ทำให้สิ่งปฏิกูลไหลลงแม่น้ำคงคาหมด ส่วนเลอะเทอะต่างก็ไหลมาตาม ส่วนพื้นดินก็สะอาด ความชุ่มชื้นก็ปรากฏ คนก็เริ่มมีความสบายเพราะฝนไม่ตกมานาน

ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงเสด็จเข้าเมืองไพสาลี เข้าไปในเขตพระราชฐาน แล้วองค์สมเด็จพระประทีบแก้ว ก็ทรงเรียกพระอานนท์ว่า

"อานันทะ ดูก่อนอานนท์ จงมานี่ เธอจงเรียนรัตนสูตร เรียนรัตนสูตรอันนี้ไปแล้วก็เดินบริกรรมรอบๆ เขตของเมืองไพสาลีทั้ง ๔ ทิศ"พระอานนท์เรียนรัตนสูตรแล้วหลังจากนั้นก็เอาบาตรขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วใส่น้ำ เริ่มทำน้ำมนต์

วิธีการทำน้ำมนต์ของพระอานนท์ ก็คือ

อาราธนาบารมีของพระพุทธเจ้า ๓๐ ทัศ คือ บารมีปกติ ที่เรียกว่า บารมีเฉยๆ ๑๐ ทัศ อุปบารมี ๑๐ ทัศ ปรมัตถบารมี ๑๐ ทัศ และก็ความดีของพระพุทธเจ้าอันหนึ่งคือ มหาบริจาค ๕ ประการ และก็ จริยา ๓ ประการ คือ

๑.โลกัตถจริยา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่โลก
๒.ญาตัตถจริยา ที่พระพุทธเจ้าทรงประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่พระญาติ
๓.พุทธัตถจริยา คือทรงบำเพ็ญประโยชน์ในฐานะที่ทรงเป็นพระพุทธเจ้า คือสอนให้คนบรรลุมรรคผล
และการอารธนาความดีขององค์สมเด็จพระชินสีห์ ในการก้าวเข้าสู่พระครรภ์ในภพสุดท้ายและความดีของการประสูติ ความดีในการเสด็จออกมหาภิเนษภรมภ์ของพระพุทธเจ้า

และพระพุทธเจ้าทรงทำความเพียรถึง ๖ ปี ต่อมาความดีของพระองค์บารมีช่วยให้ชนะมาร ตลอดจนอาราธนาความดีที่แทงตลอดเพื่อพระสัพพัญญุตญาน เหนือบัลลังค์ต้นโพธิ์เป็นพระอรหันต์ การยังธรรมจักรที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่ปัญจวคีย์ ฤาษีทั้ง ๕ ให้เป็นไปในโลก และ ก็อาราธนา โลกุตรธรรม ๙ ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ได้แก่

โสดาปัตติมรรค
สกิทาคามิมรรค
อนาคามิมรรค
อรหันตมรรค
พระโสดาปัตติผล
สกิทาคามิผล
อนาคามิผล
อรหันตผล
และ นิพพาน อีก ๑ เป็น ๙


หลังจากอาราธนาพระบารมีทั้งหมดเสร็จ พระอานนท์ก็เข้าไปยังเขตของเมืองในพระนครเที่ยวทำพระปริตร คือสูตร ยานีธะ ภูตา ฯลฯ เรื่อยไปในกำแพงทั้ง ๓ ด้าน คือเดินกำแพง ๓ ด้านตลอด ๓ ยามในราตรีนั้น เดินไปเดินไปก็สวดรัตนสูตร ยานีธะ ภูตาฯลฯ และท่านบอกว่าเมื่อพระอานนท์ใช้ศัพท์ว่า "ยังกิญจิ" เท่านั้นแหละ ท่านพรมน้ำไปด้วย ทำน้ำมนต์น่ะ (เขาทำน้ำมนต์ด้วยบทนี้นะ) พรมน้ำขึ้นไปเบื้องบน ตกลงบนกระหม่อม ของอมนุษย์ คือ เปรต อสุรกาย เป็นต้น

พวกนั้นทนไม่ไหววิ่งกันพล่านไปหมด แล้วตกลงมาบนหัวมนุษย์ทั้งหลาย ผู้ป่วยและบรรดาคนป่วยทั้งหลายหายโรคในทันทีทันใดนั้นเอง แล้วลุกขึ้นแวดล้อมพระเถระ เรื่องทำน้ำมนต์นี่ไม่ใช่เรื่องเหลวไหล ถ้าทำถูก อาศัยบารมีขององค์สมเด็จพระจอมไตรมีผลมาก


จาก หนังสือสมบัติพ่อให้
โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (ฤาษี ลิงดำ)
 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น